วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

ภาคใต้















ประเพณีผ้าขึ้นธาตุ 

ประเพณีผ้าขึ้นธาตุ หมายถึง การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช แก่นแท้อยู่ที่การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน
ตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีว่า ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนครมีรอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 คือ วันวิสาขบูชา เรียกว่า “แห่พระบฎขึ้นธาตุ” มีการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คือ วันมาฆบูชา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่อยู่ห่างไกลหรือไม่มีโอกาสกระทำพุทธบูชาในวันวิสาขบูชาได้มีโอกาสแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาตามศรัทธาด้วย ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครจึงมีปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) และในวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) สืบมาจนทุกวันนี้
เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำกันโดยพร้อมเพรียงเป็นขบวนที่เอิกเกริกเพียงขบวนเดียว ต่อมา ประชาชนมาจากหลายทิศหลายทาง แต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเองทำให้การแห่ผ้าขึ้นธาตุไม่พร้อมเพรียงเป็นขบวนเดียวกัน เพราะใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็ได้ตามสะดวกตลอดทั้งวัน เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร ก็แห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารม้า ซึ่งมีบันไดขึ้นสู่ลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อนำผ้าขึ้นห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด

ประเพณีชิงเปรต
ชิงเปรต เป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ดำรงอยู่บนความเชื่อของการนับถือผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วหากยังมีบาปอยู่จะกลายเป็นเปรตในนรกปีหนึ่งจะถูกปล่อยให้มาเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือวันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรตในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั่นคือวันส่งเปรตกลับคืนเมืองเรียกกันว่าวันสารทใหญ่
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการได้บุญเพราะเชื่อกันว่าลูกหลานของเปรตใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนบุญนั้น
พิธีกรรม
การตั้งเปรตและชิงเปรตจะกระทำกันในวันยกหมฺรับไปวัดหลักๆก็จะเป็นขนมพอง ขนมลา ขนมเบซำ (ดีซำ) นอกจากนี้ก็อาจจะมีเป็นผลไม้หรืออาหารแห้งอื่นๆที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบไปวางรวมกันไว้บน "ร้านเปรต" หลังจากที่พระสงฆ์ได้ทำพิธีกรรมและกำลังฉันเพล ชาวบ้านก็จะออกมาตักบาตรข้าวสวยและเริ่มชิงเปรตกันซึ่งขั้นตอนนี้ก็จะมีทั้งความชุลมุนและความสนุกสนานผสมกันเป็นที่เฮฮาของบรรดาผู้ที่มาชิงเปรต




ประเพณีสารทเดือนสิบ

เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปีแต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะ นิยมทำบุญกันมากคือวันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับเดือนกันยายน




พิธีแห่นางดาน 

คำว่านางดาน หรือนางกระดาน หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ แผ่นแรก คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือแม่พระธรณี แผ่นที่สามคือพระแม่คงคา เพื่อใช้ในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า
เชื่อกันว่าการเสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลกเพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุข ให้เกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัย ซึ่งตามความเชื่อการเสด็จลงมาของพระอิศวรจะต้องเสด็จลงมาในเดือนอ้าย ซึ่งเป็นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดู เพื่อให้ประเพณีแห่นางดานเป็นที่รู้จักและคงไว้ซึ่ง่ประเพณีเก่าแก่ของเมืองนครศรีธรรมราชและกำเนิดขึ้นเป็นแห่งแรกในเมืองไทย
ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี โดยมีขบวนแห่นางดานจากสนามหน้าเมืองมายังหอพระอิศวร การแสดงแสง สี เสียง ตำนานนางดานและเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง การจำลองพิธีแห่นางดาน และการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นการโล้ชิงช้านอกเขตเมืองหลวงแห่งเดียวของไทยในปัจจุบัน โดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเป็นผู้รับผิดชอบ และถือเป็นกิจกรรมสำคัญในปฏิทินการท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกด้วย



งานเสด็จพระแข่งเรือ 


ถือเป็นงานที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของชุมชนหมู่บ้านทับหลี จังหวัดระนอง สมัยก่อนเรียกว่า "งานลากพระ" ก่อนออกพรรษาแต่ละหมู่บ้านจะมีการตกแต่งเรือพระโดยจัดทำยอดพนมอย่างสวยงามนำมาประกวดกัน ต่อได้จัดให้มีการแข่งขันเรือชาวบ้านมีรางวัลมอบให้กับเรือที่ชนะการแข่งขัน จัดขึ้นบริเวณแม่น้ำกระบุรีช่วงคอคอดกระ มีชาวไทยและชาวพม่าเข้าร่วมงานจำนวนมากเป็นประจำทุกปี



ภาคเหนือ


ประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง คือ ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา โดยคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย
งานประเพณีจะมีสามวันคือ
  • วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ วันดา เป็นวันซื้อของเตรียมไปทำบุญที่วัด
  • วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน
  • วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ
ในช่วงวันยี่เป็งจะมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน ทำประตูป่า ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา และมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะตี๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 


ภาคอีสาน

ประเพณี บุญบั้งไฟ


ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงลาว โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้

ภาคกลาง

ประเพณี ตักบาตรดอกไม้

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเภณีของชาวพุทธโดยมีความเชื่อเรื่องของการทำบุญ พบบางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น เป็นประเพณีประจำปีของจังหวัดสระบุรีโดยจัดที่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีและวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ

ประเพณีตักบาตรดอกไม้มีตำนานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีเรื่องเล่าว่า นายสุมนมาลาการ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ เขามีหน้าที่นำดอกมะลิไปถวายพระเจ้าพิมพิสารวันละ 8 ทะนาน ทุกวัน และจะได้ทรัพย์วันละ 8 กหาปณะ ต่อมาเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังถือดอกไม้จะเข้าประตูเมือง เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เขาเห็นพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงถวายดอกไม้ด้วยดอกไม้ที่จะนำไปถวายพระราชาโดยมีความคิดว่า แม้จะต้องตายด้วยโทษประหารก็ยอม ชาวเมืองทราบดังนั้นจึงพาการโห่ร้องสรรเสริญเป็นอันมาก มีเพียงภรรยาของเขาที่ไม่พอใจ ภรรยาจึงนำความนั้นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน นอกจากจะไม่โกรธแล้ว ยังนำความนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าอีกที พระพุทธเจ้าได้กล่าวสรรเสริญนายสุมนมาลาการ ทำให้นายสุมนมาลาการได้รับของพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารถึง 8 ชนิด คือช้าง ม้า ทาส ทาสี เครื่องประดับ นารี อย่างละแปด ทรัพย์อีก 8 พันกหาปณะ และบ้านส่วยอีก 8 ตำบล ครั้นกลับถึงวัด พระอานนท์ได้กราบทูลผลบุญที่นายสุมนมาลาการจะพึงได้รับ พระพุทธองค์ตรัสว่า นายสุมนมาลาการได้สละชีวิตบูชาพระองค์ในครั้งนี้จักไม่ได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนกัลป์



ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เป็นประเพณีที่ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร่วมมือกันจัดขึ้นในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ ซึ่งประวัติความเป็นมาของประเพณีอุ้มพระดำน้ำก็คือ เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีอาชีพหาปลาขาย และได้ไปหาปลาที่แม่น้ำป่าสักเป็นประจำทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งก็ได้เกิดเรื่องที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นเพราะวันนั้น ไม่มีใครจับปลาได้สักตัว จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นตรงบริเวณ วังมะขามแฟบ (ไม้ระกำ) ซึ่งปกติบริเวณนี้น้ำจะไหลเชี่ยวมาก จู่ ๆ น้ำก็หยุดไหล และมีพลายน้ำผุดขึ้นมา แล้วพระพุทธรูปก็ผลุดขึ้นมาด้วย ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ขึ้นจากน้ำและนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จนกระทั่งถึงวันสารทไทยหรือ วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ พระพุทธรูปองค์ดังกล่าว (พระพุทธมหาธรรมราชา) ก็ได้หายไปจากวัด ชาวบ้านจึงช่วยกันตามหาและเจอพระพุทธรูป อยู่บริเวณวังมะขามแฟบ จากนั้นเป็นต้นมา พอถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็จะจัดงานซึ่งเรียกว่า “อุ้มพระดำน้ำ”[1] ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา